วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

แนวทางการจัดการกลุ่มสัจจะฯ วัดป่าบาง

ตามที่สัญญาไว้กับผู้อ่านเมื่อบันทึกที่แล้วครับว่า "ผมจะนำแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตวัดป่ายาง" (ชื่อยาวที่สุดในโลก...ผมเชื่อว่าอย่างนั้นครับ) มาฝาก ขออภัยที่ล่าช้าไปบ้าง เพราะต้องรอให้กรรมการอภิปรายกันให้รอบคอบก่อน ผมได้ไฟล์มาทั้งแท่งเลยครับ ต่อไปนี้ผมจะคัดลอก แล้วมาวางไว้ต่อจากภาพการประชุมของกรรมการเลยครับ...โปรดติดตาม

กฏระเบียบข้อบังคับ
กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต
วัดป่ายาง ปี 2552

แนวทาง ระเบียบข้อบังคับของ“กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต” กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการไปตามทิศทางเดียวกันทั้งนี้ ระเบียบ ข้อบังคับฉบับนี้รวบรวมจากแนวทางการปฏิบัติ ข้อสรุป และประสบการณ์ดำเนินงานกลุ่มเป็นเวลา 10 ปี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หมวดสัจจะ

ข้อ 1. กำหนดให้สมาชิกทุกคนเป็นผู้มาส่งเงินสัจจะฯ เงินกู้ เงินณาปนกิจ และค่าบำรุงด้วยตัวเอง พร้อมกับให้สมาชิกเขียนยอดเงินในสมุดมาเอง แต่ห้ามเช็นต์ชื่อในช่องเหรัญญิก กรณีสมาชิกมีความจำเป็นฝากบุคคลอื่นมาส่งเงินแทน ยอดเงินขาด-เหลือผู้รับฝากต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด
ข้อ 2. กำหนดให้ สมาชิกส่งเงินสัจจะฯ เงินกู้ หรือเงินอื่นๆ แต่ต้องเตรียมเงินมาให้พอดีกับการส่ง เพราะจะไม่มีการแลกเงินและทอนเงิน ถ้าเงินเหลือถือว่าสมาชิกร่วมสมทบกองทุนสวัสดิการ ทำเช่นนี้ เพื่อฝึกให้สมาชิกได้เรียนรู้ข้อมูลการเงินและการวางแผนการเงินของครอบครัวตัวเองให้ถูกต้อง
ข้อ 3. สมาชิกส่งเงิน”สัจจะ”จำนวนเท่าใดในแต่ละเดือนจะต้องส่งเงินตามจำนวนนั้นๆ ถ้าไม่ครบตามจำนวนจะต้องเร่งส่งเงินสมทบให้ครบตามที่ระบุไว้มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับเงินปันผล เช่นส่งสัจจะไว้ 100 บาทต่อเดือน เมื่อสิ้นปี ต้องมียอดเงินในทะเบียน 1,200 บาท ถ้ามียอดเงิน 1,100 บาท ทางกลุ่มถือว่าขาดหุ้นจะไม่จ่ายปันผลให้สมาชิกรายนั้น
ข้อ 4. สมาชิกต้องมาส่งเงินภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน พ้นจากวันที่ 25 ของทุกเดือน ทางกลุ่มจะไม่รับเพราะไม่ใช่วันทำการ กรณีส่งเงินเกินเวลาที่ทางกลุ่มกำหนด จะถูกปรับเงินเล่มละ 10 บาท ถ้ามาส่งวันที่ 25 เดือนต่อไปให้ทางกลุ่มฯปรับเล่มละ 20 บาท
ข้อ 5. กรณีที่สมาชิกไม่ส่งเงินสัจจะฯ เงินกู้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน และไม่แจ้งเหตุผลให้ทางกลุ่มรับทราบทางกลุ่มถือว่าลาออก ทางกลุ่มจะไม่จ่ายเงินสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้หากสมาชิกรายนั้นมีหนี้สินอยู่กับกลุ่มสมาชิกจะต้องจ่ายคืนหนี้สินให้หมดก่อน
ข้อ 6. สมาชิกสามารถชื้อสมุดบัญชีด้วยวิธีการจ่ายเงินสด สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้าน เงินกู้ เงินสวัสดิการ เมื่อเป็นสมาชิกครบ 6 เดือนแล้ว ทั้งนี้คณะกรรมการกลุ่มสามารถพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแก่สมาชิกที่ครบ 6 เดือนแล้วได้เป็นรายๆไป
ข้อ 7. สมาชิกส่งเงินสัจจะ เงินกู้ หรือเงินอื่นๆ ห้ามเอาสมุดและเงินมากองไว้ที่โต๊ะทำงานของคณะกรรมการ และหากกรรมการท่านใดสั่งให้ตั้งกองไว้จะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทุกกรณี
ข้อ 8.ในวันประชุมปันผล แต่ละครอบครัวต้องเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยครอบครัวละ 1คน สมาชิกต้องลงทะเบียนชื่อทุกครั้ง และอยู่ร่วมประชุมจนกว่าจะปิดการประชุม ถ้าครอบครัวใดไม่เข้าร่วมประชุม ทางกลุ่มฯจะตัดสวัสดิการ 1 ปี กรณีมีเหตุจำเป็นต้องแจ้งกรรมการพิจารณาเป็นรายๆไป
ข้อ 9. การประชุมวิสามัญแต่ละครั้งกลุ่มจะจ่ายเบี้ยประชุม คนละ 30 บาทยกเว้นการประชุมสามัญวันปันผลจะไม่จ่ายเบี้ยประชุม ถ้าครอบครัวใดไม่เข้าร่วมประชุม ทางกลุ่มฯจะตัดสวัสดิการ 1 ปี กรณีมีเหตุจำเป็นต้องแจ้งกรรมการพิจารณาเป็นรายๆไป
ข้อ 10. ห้ามขายสมุดสัจจะหรือเปลี่ยนชื่อกันเองโดยมิได้แจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการรับทราบ มิเช่นนั้นถือว่าเป็นโมฆะทางกลุ่มไม่รับผิดชอบ
ข้อ 11. ห้ามไม่ให้ผู้กู้เงิน ผู้ค้ำประกัน และผู้รับรอง คนใดคนหนึ่ง ถอนหุ้น หรือ ลาออก ไม่ได้ถ้ายังมีหนี้เงินกู้ค้างอยู่ ถ้าหากไม่มีหนี้สินเสนอถอนหุ้นเล่มหนึ่งเล่มใดได้แต่ทางกลุ่มจะลดเพดานในการกู้และสวัสดิการของครอบครัวนั้นๆ
ข้อ 12. สมาชิกครอบครัวที่ส่งสัจจะ ส่งเงินกู้ประวัติไม่ดีคือไม่ตามระเบียบ ข้อบังคับกลุ่ม จะไม่ปรับรุ่นให้ๆอยู่รุ่นเดิม หรือถ้าอยู่รุ่นที่ 1 จะตกมาอยู่รุ่นที่ 2, 3, 4 ได้



หมวดเงินกู้

ข้อ 1 ห้ามเอาสมุดบัญชีของ คนชราและเด็กมากู้เงิน หรือค้ำประกัน ถ้าคนชราจะมากู้ก็ให้กู้เฉพาะหุ้นในสมุดบัญชีของตัวเองเท่านั้น ถ้ายืมสมุดบัญชีคนชรามากู้ เจ้าของสมุดบัญชีต้องมาทำสัญญาเอง และมาส่งเงินต้น ค่าบำรุงด้วยตนเองเพราะทางกลุ่มถือว่าเจ้าของสมุดบัญชีเล่มนั้นเป็นผู้กู้ ถ้าคนชราต้องการกู้เงินให้ลูก ลูกคนนั้นต้องมารับรองและส่งเงินด้วยตัวเอง มิฉะนั้นทางกลุ่มจะไม่อนุมัติปล่อยเงินกู้ จะได้ยอดเงินกู้เท่าใดอยู่ที่ประวัติของคนกู้นั้นๆ
ข้อ 2 ผู้กู้มาขอรับใบเสนอกู้เงินได้ทุกเดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 จนถึงวันที่ 19 ของเดือนถัดไปให้ คนกู้ คนค้ำ คนรับรอง มาทำสัญญา หลังจากนั้นทางกรรมการจะไม่รับพิจารณา เงินกู้
ข้อ 3 การกู้การค้ำประกันต้องกระทำร่วมกันทั้ง 3 คน และตกลงกันให้ดีทางกลุ่มถือว่าท่านทั้ง 3 คน เป็นคนกู้ ข้อผิดพลาดใดๆที่เกิดขึ้นต้องรับผิดชอบร่วมกัน และต้องทำหลักฐานไว้กับกลุ่มเพื่อป้องกันปัญหา ผู้กู้ต้องมีคนรับรอง เช่น สามีเป็นผู้กู้เงิน ภรรยาต้องเป็นผู้รับรอง ถ้าเป็นหม้าย อยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการในฐานะผู้ให้กู้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น
ข้อ 4 ผู้ที่กู้เงินไปแล้ว หากทำผิดสัญญา คณะกรรมการจะเรียกมาตักเตือน หากเกิดครั้งที่2 การขอกู้ครั้งต่อไปจะถูกลดเพดานเงินกู้ หรือให้กู้แต่หุ้นตัวเองแต่ได้ไม่เต็มยอดเงินสะสมทั้งหมด
ข้อ.5 ผู้กู้เงิน ผู้ค้ำประกันเงินกู้ และผู้รับรอง ต้องมาเซ็นต์สัญญาต่อหน้า ถ้ามีธุระอนุญาติให้เซ็นต์ล่วงหน้าได้ แต่ถ้าเลยเวลาทางกลุ่มจะไม่อนุมัติเงินกู้
ข้อ.6 การเขียนใบเสนอเงินกู้ ต้องเขียนวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเอาเงินไปทำอะไร ถ้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เมื่อมากู้เงินครั้งต่อไปจะได้ไม่เต็มเพดานเพราะถือว่าผิดสัจจะ
ข้อ 7 สมาชิกกลุ่มสัจจะฯ ทั้งหมดต้องร่วมกันรักษากลุ่มไม่ให้ล้ม เราจะไม่ยอมให้คนไร้สัจจะทำลายกลุ่ม หากเกิดกรณีไม่มีผู้มาส่งเงินกู้แม้แต่รายเดียวในรอบเดือนนั้น ต้องปฏิบัติดังนี้คือ
ข้อ 7.1 ให้ผู้ที่กู้เงินในเดือนนั้น ไปตามคนกู้ หรือ คนค้ำ
ข้อ 7.2 ให้คนค้ำ คนรับรอง ส่งเงินสัจจะ เงินกู้พร้อมค่าบำรุงในฐานะผู้ค้ำ และผู้รับรอง
ข้อ 7.3 ในกรณี คนกู้ คนค้ำ คนรับรองไม่อยู่ คนที่กู้เงินในเดือนนั้นต้องจ่ายแทนผู้กู้เงินที่ไม่มาส่ง(ปิดบัญชี)โดยใช้วิธีตกลงกัน ระหว่างคน ที่กู้เงิน กับคณะกรรมการ ถ้าปิดบัญชีไม่ได้ทางคณะกรรมการจะนำเงินไปฝากธนาคาร เพราะปล่อยเงินกู้ไม่ได้ไม่มีคนรับผิดชอบต่อกลุ่มขืนปล่อยไปก็เท่ากับทำลายกลุ่ม (ยกเว้นคนกู้เงินหุ้นของตัวเอง)
ข้อ 7.4 ถ้าคณะกรรมการปล่อยกู้กรรมการต้องรับผิดชอบ เมื่อผู้กู้เดือนนั้นปิดบัญชี ต้องเขียนชื่อไว้ด้วย ถ้าคนกู้และคนค้ำมาส่ง ให้ไปส่งกับคนที่ปิดบัญชีให้ ถือว่าผู้นั้นรับผิดชอบต่อกลุ่มสัจจะ ทางกลุ่มต้องบันทึก ประกาศชมเชย
ข้อ 8 การกู้เงินหุ้นครอบครัวต้องไม่ค้ำคนอื่นอยู่ และให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่กู้ได้ไม่เต็มเงินหุ้นตัวเอง
ข้อ 9 ผู้กู้เงินเดือนนั้นต้องมารับเงินกู้ด้วยตนเอง ผู้กู้เงินต้องทำณาปนกิจเครือข่าย ถ้าไม่ทำทางกลุ่มจะไม่ปล่อยเงินกู้ เพราะเป็นมติเครือข่าย
ข้อ 10. เมื่อผู้กู้มาส่งสัจจะเงินกู้ผิดเวลา แต่ไม่ยอมเสียค่าปรับทางกลุ่มต้องตัดเงินปันผลของสมาชิกคนนั้นเข้ากองทุนสวัดิการเมื่อสิ้นปีปันผล
สำหรับสมาชิกที่กู้เงินไปแล้วผิดสัญญาเงินกู้ เลยจำนวนงวดที่กำหนด เสนอเงินกู้ครั้งต่อไปจะได้ไม่เต็มเพดาลเงินกู้ และต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของมติที่ประชุมคณะกรรมการเป็นรายๆไป
ข้อ 11. คนแก่ชราที่ได้รับสวัสดิการจากกลุ่มเมื่อจะค้ำประกันให้คนกู้รายใดๆ ต้องมีลูกมารับรองและต้องอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ
ข้อ 12. กรณีปิดบัญชีกู้ใหม่ ยอดเงินที่ปิดบัญชี (ผลักกู้ใหม่) แต่ละครั้ง ต้องอยู่ในวงเงิน 20 % ของยอดเงินกู้ในแต่ละครั้งที่ปิดบัญชี ถ้าปิดบัญชีผลักกู้ในกรณีพิเศษ เช่น ซื้อที่ดิน ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการอนุมัติเป็นรายๆไป
ข้อ 13. ปล่อยกู้ 2 เล่มเหมือนเดิมหรือ 1 เล่มต่อครัว แต่ครัวที่มีปัญหาให้พิจารณาจากประวัติการส่งสัจจะ เงินกู้ และหุ้นเป็นรายๆไป
ข้อ 14. กำหนดเพดานเงินกู้ ปี 2552 ดังนี้
รุ่นที่ 1 ไม่เกิน 90,000 บาท ระยะเวลา 90 เดือน
รุ่นที่ 2 ไม่เกิน 70,000 บาท ระยะเวลา 70 เดือน
รุ่นที่ 3 ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 65 เดือน
รุ่นที่ 4 ไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลา 50 เดือน
**** ยอดเงินกู้จะเพิ่ม กว่าเพดาน และยอดเงินกู้ลด กว่าเพดานที่กำหนด ขึ้นอยู่กับประวัติและยอดเงินสะสมของสมาชิกแต่ละครัว ทั้งนี้ต้องอยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายกรณีไป
หมวดสวัสดิการ
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มสัจจะฯ คือ สมาชิกอยู่ดี-กินดีมีสุข
ข้อ 1. คลอดบุตร ทางกลุ่มเปิดบัญชีให้เด็กแรกเกิด 500 บาทพร้อมกับประกันสังคม 100 บาท นอกนั้นเงินสัจจะรายเดือนส่งตามความสมัครใจ จะเป็นสมาชิกรุ่นที่ 4 ส่วนการคุ้มครองอื่นๆ เหมือนกับสมาชิกทั่วไป ถ้าจะถอนเงินสัจจะ เด็กต้องอายุ 15 ปี ขึ้นไป หากต้องการถอนก่อนกำหนด ทางกลุ่มจะให้เฉพาะเงินหุ้นตัวเอง
ข้อ 2. คนแก่ชรา นับจากอายุ 65 ปี เมื่อเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะ ครบ 4 ปีขึ้นไปทางกลุ่มจะจ่ายเงินสวัสดิการให้เดือนละ 50 บาท ต่อเดือน ปีถัดไปขึ้นให้ปีละ 10 บาท ต่อเดือน คุณสมบัติของคนแก่ชราที่มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการ คือ ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อลูกหลาน เป็นคนไม่มีอบายมุข และมาวัดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ยกเว้นคนชราภาพมาไม่ได้จริงๆทางกลุ่มต้องดูแลเป็นพิเศษขึ้นตามความเติบโตของกลุ่ม
การจ่ายเงินสวัสดิการคนแก่ชราในปี 2552
รุ่นที่1 จ่ายเงิน 100 บาท
รุ่นที่2 จ่ายเงิน 60 บาท
รุ่นที่3 จ่ายเงิน 50 บาท
ส่วนคนแก่ชราที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ต้องการจะรับเงินสวัสดิการคนแก่ชราจากทางกลุ่มให้ท่านถ่ายสำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน มายื่นเสนอต่อคณะกรรมการตั้งแต่วันที่
11 -19 มกราคม 2552 เท่านั้น แต่จะได้รับเงินเดือนละ 50 บาทจะเป็นสมาชิกคนชรารุ่นที่ 3
ข้อ 3. คนเจ็บ เนื่องจากอุบัติเหตุทุกกรณีไม่นอนโรงพยาบาล เช่น ล้มแขนหัก งูกัด ทางกลุ่มจะจ่ายตามรุ่นต่อ 1 ปีดังนี้
รุ่นที่ 1 ไม่เกิน 4,000 บาท
รุ่นที่ 2 ไม่เกิน 3,000 บาท
รุ่นที่ 3 ไม่เกิน 2,000 บาท
รุ่นที่ 4 ไม่เกิน 1,000 บาท
แต่ต้องมาเสนอสาเหตุต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในวันที่ 26 แล้วจะจ่ายเงินสวัสดิการในเดือนถัดไป
ข้อ 4. คนป่วย จากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรืออื่นๆ ที่ต้องนอนโรงพยาบาล ใบรับรองแพทย์ต้องไม่มีรอยแก้ไขหรือเพิ่มเติมใดๆ ทั้งนี้ในส่วนของใบรับรองแพทย์ที่ถ่ายเอกสารมาเบิกสวัสดิการ ต้องมีใบรับรองแพทย์ตัวจริงแนบมาด้วย เพื่อรับรองสำเนาถูกต้อง มิเช่นนั้นทางกลุ่มจะไม่จ่ายเงินสวัสดิการ
ทางกลุ่มจะจ่ายเงินสวัสดิการให้กับสมาชิก ต่อคืนไม่เกิน 15 คืน/ต่อปี ตามเกณฑ์ดังนี้
รุ่นที่ 1 คืนละ 500 บาท
รุ่นที่ 2 คืนละ 300 บาท
รุ่นที่ 3 คืนละ 250 บาท
รุ่นที่ 4 คืนละ 150 บาท
แต่ถ้าสมาชิกคนใด เจ็บป่วยจากการทำงานเพื่อกลุ่ม ทางกลุ่มจะพิจารณาจ่ายเงินสวัสดิการเป็นพิเศษ แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของกลุ่มและความเติบโตของกองทุนสวัสดิการ
ข้อ 5. ค่าน้ำ-ค่าไฟ กลุ่มจ่ายสวัสดิการค่าน้ำ-ค่าไฟตามกองทุนแรกเข้าเป็นกองทุนไปจะจ่ายกองทุนละ 50 บาท/เดือน เงื่อนไขคือ แต่ละกองทุนต้องมารับเงินด้วยตนเอง มีประวัติการส่งเงินทุกหมวดดีหมด ผู้รับฝากเงินเพื่อนก็ไม่จ่ายเงิน มาประชุมทุกครั้งที่กลุ่มเรียกประชุม
ข้อ 6.พักฟื้น ถ้านอนโรงพยาบาลแล้วไม่หาย กลับมานอนที่บ้านทางกลุ่มจะจ่ายเงินเดือนละ 300 บาทต่อคนต่อเดือน จนหายป่วยหรือตาย หากหายจากการเจ็บป่วยแล้วสามารถช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้ ทางกลุ่มจะหยุดจ่ายเงินสวัสดิการ 300 บาทนี้ทันที แต่ต้องปฎิบัติตัวดีด้วย
ข้อ 7. เสียชีวิต ทางกลุ่มจะจ่ายเงินให้ 7,000 บาท น้ำดื่มตราบ้านเรา 50 โหล และเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม 1 เตียง ในคืนที่กลุ่มไปเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมต้องไม่มีอบายมุขอย่างเปิดเผย ส่วนสมาชิกตายมาทำศพที่วัดป่ายางกลุ่มให้เงิน 20,000 บาทให้น้ำดื่มตราบ้านเราพองาน เป็นเจ้าสภาพสวด 1 เตียงแต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขของวัด เหล้าไม่มี เล่นการพนันไม่มี ถ้าผิดเงื่อนไขกลุ่มจะไม่จ่าย
ทั้งนี้ ข้อ 1.- ข้อ 7.มีเงื่อนไขที่คณะกรรมการต้องพิจารณาจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงิน หรือปรับลดค่าสวัสดิการคือ สาเหตุการเจ็บ กินเหล้า เล่นการพนัน ยาม้า ผิดศีลธรรม อยู่ที่เหตุผลของคณะกรรมการแต่ต้องอยู่ในแนวทางของกลุ่ม และทางครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมกับกลุ่ม มาประชุมทุกครั้งที่กลุ่มนัดหมาย
ข้อ 8. สมาชิกฌาปนกิจเครือข่ายปี 2552 ทางกลุ่มจะเก็บเงินเป็นทุนสำรองคนละ 250 บาท ต่อปี โดยเก็บเงินจากวันปันผล หรือวันถัดไปแต่ไม่เกินวันที่ 25 มกราคม 52
ตัวอย่าง ในหนึ่งปี มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 25 คน ทางกลุ่มจะนำเงินที่เหลือเข้ากองทุนสวัสดิการ แต่ถ้าหากว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 25 คน ทางกลุ่มจะจ่ายเงินฌาปณกิจเครือข่ายให้กับสมาชิกทั้งหมด
สำหรับผู้เป็นสมาชิกฌาปนกิจเครือข่ายรายใหม่ ท่านจะต้องจ่ายเงินทุนสำรอง จำนวน 250 บาท เท่ากับสมาชิกรายเก่า ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกเครือข่ายเดือนใดก็ตาม


หมวดหน้าที่และสิทธิของกรรมการ

ข้อ 1. คณะกรรมการทั้งชุดจะต้องทำงานเป็นทีม และต้องดูแลรับผิดชอบ ให้กลุ่มเดินไปสู่ อุดมการณ์ และเป้าหมายการพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีวาระการประชุมตามการงานของกลุ่มและข้อตกลง
ข้อ 2.ฝ่ายบัญชี รับผิดชอบบัญชี - รายรับ รายจ่ายและงบบัญชีต่างๆทั้งหมดของกลุ่ม
ข้อ 3.ฝ่ายเลขานุการ รับผิดชอบการบันทึกวาระการประชุมทุกครั้ง รวบรวมหลักฐาน ข้อมูล ทะเบียนประวัติต่างๆของกลุ่มให้เป็นปัจจุบัน
ข้อ 4. คณะกรรมการฝ่ายสัจจะ ทำหน้าที่ รับเงินสัจจะจากสมาชิก ดูแลทะเบียน ให้สะอาด เรียบร้อยและดูตัวเลขให้เป็นปัจจุบัน
ข้อ 5. คณะกรรมการฝ่ายเงินกู้ ทำหน้าที่ รับเงินกู้ ดูแลทะเบียนให้สะอาดเรียบร้อยตัวเลขให้เป็นปัจจุบัน ดูแลสมาชิกให้อยู่ในกฏกติกา พร้อมทั้งบันทึกประวัติของสมาชิกด้วยความถูกต้อง
ข้อ 6. คณะกรรมการฝ่ายสวัสดิการดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิก เมื่อสมาชิก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องรับ- จ่าย ตามข้อตกลงปีต่อปี จัดทำทะเบียนประวัติของสมาชิก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
ข้อ 7. กรรมการต้องมาทำงานอย่างน้อย 4 วัน นอกเหนือจากนั้นแล้วแต่ทางกลุ่มเรียกประชุมเป็นพิเศษ

7.1 วันที่ 20 เวลา 13.00-15.00 น. พิจารณาเงินกู้
7.2 วันที่ 24 เวลา 13.00-15.00 น. เขียนสัญญาเงินกู้
7.3 วันที่ 25 เวลา 12.00-14.00 น. ทำการกลุ่ม
เวลา 14.30 - 15.00 น. ปล่อยเงินกู้
7.4 วันที่ 26 เวลา 09.00-15.00 น. ประชุมคณะกรรมการ / สรุปบัญชีรายเดือน
ข้อ 8. หน้าที่ความรับผิดชอบงาน
8.1 กรรมการรับสัจจะฯ
8.2 กรรมการรับเงินกู้
8.3 กรรมการจ่ายสวัสดิการ
8.4 กรรมการฌาปนกิจ
8.5 กรรมการธุรกิจกลุ่ม
ข้อ 9. ค่าตอบแทนคณะกรรมการจะได้รับค่าตอบแทนเมื่อสิ้นปีปันผล
ค่าตอบแทนปี พ.ศ. 2552 คนละ 500 บาท /เดือน จำนวน 17 คน เป็นเงิน 102,000 บาท
ข้อ 10. คณะกรรมการกลุ่มสัจจะฯวัดป่ายาง หมดวาระและหมดสถานภาพจากเป็นกรรมการ คือ
10.1 ลาออก เช่น ไม่รักกลุ่ม ไม่รักชุมชน ไม่มีอุดมการณ์
10.2 งานขับไม่ออก เช่น ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่พัฒนาตนเอง
10.3 ฉ้อโกงกลุ่ม เช่น โกงเงินกลุ่ม โกงเงินสมาชิก
10.4 เสียชีวิต



ดูแล้วก็นำไปปรับใช้ได้ตามสะดวกนะครับ สอบถามกรรมการแล้วว่า "ไม่สงวนสิทธิ์ครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น