วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552

25 มกราคม วันก่อตั้ง และวันสัจจะ ของกลุ่มสัจจะฯวัดป่ายาง

วันนี้มีภาพบรรยากาศ "ความเป็นชุมชน" มาแบ่งปันกันดูครับ ส่วนตัวผมเองยอมรับว่า ห่างหายจากภาพเหล่านี้ไปนานกว่ายี่สิบปีมาแล้ว นับแต่ทิ้งบ้านเกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์มา "ไล่ล่าความสำเร็จ" โดยหวังว่ามันจะมอบ "ความสุข" ให้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ แต่พอได้ความสำเร็จ ก็ดูเหมือนว่าว่าสุขจะหนีห่างออกไปสองเท่าทุกครั้งที่ครอบครองความสำเร็จ พอหยุดไล่ความสำเร็จ ความสุขก็วางอยู่ต่อหน้าอย่างไม่ต้องดิ้นรน ภาพที่ผมนำมาแบ่งปัน บรรยายความรู้สึกที่ผมเล่ามาได้เป็นอย่างดีครับ นอกเสียจากว่าคนที่อยู่ใกล้มันจนเกินไป จะมองไม่เห็น ต้องถอยมาเป็นผู้ดูครับ แล้วจะเห็นอย่างที่ผมเล่า อย่าพึ่งเชื่อ (เพราะผู้เล่าหน้าตาดี) ลองพิจารณาดู ด้วยจิตเป็นกลาง แล้วจะเห็นเองครับ

เดือนนี้ใช้ลานหน้าศาลาโรงธรรมเป็นที่ทำการ


ทุกคนตื่นตัวรักษาสิทธิ์ของตัวเอง






กร กรรมการทำงานเข้มแข็ง










พ่อท่านก็ยังถอยมาเป็นเพียงผู้ดูไม่ได้














กรรมการแข็งขัน สมาชิกตื่นตัว









เศรษฐกิจชุมชนเคลื่อน








วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการทุนชุมชน(6): ข้าวของชุมชน

เราเคยได้ยินมามากต่อมากว่า "ชาวนาเป็นคนปลูกข้าว แต่ชาวนาต้องซื้อข้าวสารกิน" ปรากฏการณ์นี้เป็นผลผลิตจากการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่ "ความทันสมัย แต่ไม่พัฒนา" กลุ่มสัจจะฯ วัดป่ายางและเครือข่ายตระหนักถึงปัญหานี้ และนำมาพูดคุยกันในเวทีเรียนรู้ผู้นำเครือข่ายที่จัดขึ้นทุกเดือนมาตลอด

ผลจาการพูดคุยทำให้บางกลุ่มที่มีความพร้อม เริ่มลุกขึ้นมาจัดการ "ข้าว" ด้วยตนเอง จากที่แต่ก่อนให้คนอื่นจัดการให้ทั้งหมด ชุมชนเพียงแต่เปิดกระสอบแล้วเทข้าวสารลงหม้อสักเดี๋ยวก็ได้กิน มาเป็นแบ่งส่วนมาให้ชุมชนจัดการบ้างสักหนึ่งในสิบในช่วงเริ่มต้น

วิธีการคือ สมาชิกกลุ่มสัจจะในแต่ละกลุ่ม แสดงความจำนงว่า ครัวเรือนตนเองบริโภคข้าวสารกี่โลกรัมต่อเดือน แล้วมาฝากกลุ่มสั่งจากผู้ค้าส่งในท้องถิ่น ซึ่งจะประหยัดกว่ากระสอบหนึ่งก็ตกหลายบาท ยิ่งไปกว่านั้น และมีค่ามากกว่าเงินที่ประหยัดไปคือ กรรมการและสมาชิกได้เรียนรู้ห่วงโซ่ของธุรกิจข้าวสาร จุดนี้เองที่จะวางรากฐานให้กลุ่มสัจจะและเครือข่าย เป็นผู้จัดการ "เศรษฐกิจข้าวชุมชน" ได้ทั้งระบบในอนาคต

วันนี้ กลุ่มสัจจะฯ วัดป่ายางได้รับการส่งมอบข้าวสารจากการสั่งซื้อล็อดแรกจากสมาชิก 31 กระสอบ เป็นตัวเลขที่ไม่มากไม่น้อย กำลังพองามสำหรับก้าวแรกในการเรียนรู้เรื่องข้าวครับ หลังจากที่มอบการจัดการไว้กับมือคนอื่นมานาน วันนี้เราเริ่มดึงกลับมาอยู่ในมือของเราแล้ว

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการทุนชุมชน(5): แนวทางการเดินสู่อนาคต

วันก่อนนำภาพบรรยากาศการพูดคุย (ประชุม) กรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตวัดป่ายาง (ยังยืนวันว่าชื่อยาวที่สุดในโลกที่กินเนสไม่ได้บันทึกครับ...Guiness World Unrecการord) เรื่องทีเล่าไปแล้วก็เกี่ยวกับ เรื่องครบรอบสิบปีกลุ่มสัจจะฯ และการอภิปรายระเบียบในปี 2552 บันทึกนี้จะนำเสนอความคืบหน้าในการพูดคุยมาเล่าสู่กันฟังอีกประเด็นครับ นั่นคือ แนวทางการเดินสู่อนาคตของกลุ่มสัจจะฯ วัดป่ายาง (คราวนี้เสนอชื่อไม่เต็มครับ)

ก่อนที่จะนำเสนอแนวทาง การพูดคุยได้ชวนกันมองหาความประทับในการทำงานของกลุ่มเอง แทนที่จะมองหาจุดไม่ประทับใจที่ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว อันนี้ต้องขอบคุณอาจารย์ยินดี แห่งสถาบันวิชาการสหกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เพื่อนบ้านของเราที่แนะนำเรื่องนี้

จุดน่ายินดีในการทำงานของกลุ่มสัจจะฯ เราได้แก่



  • สมาชิกมีเงินออม

  • สมาชิกมีสวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

  • ทำให้สมาชิกมีเงินกู้ราคาถูก มีความสะดวก

  • ทำให้สมาชิกมีการวางแผนครอบครัว ในการใช้จ่าย

  • ทำให้ชุมชนมีกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ

  • ฝึกฝนทำให้สมาชิกพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น


จากจุดที่น่ายินดี (เหมือนกับชื่ออาจารย์ผู้ให้คำแนะนำ) ก็นำไปสู่เรื่องที่จะพัฒนาต่อไปซึ่งได้แก่



  • เสริมการนำร่วมหมู่ (พ่อท่านอธิบายว่าคือการทำงานเป็นทีมครับ)

  • เป็นแบบอย่างที่ดี (พ่อท่านอธิบายว่า กรรมการต้องทำให้เป็นแบบอย่างในทุกเรื่องก่อน เช่น ทำตามระเบียบให้ได้ก่อนจึงจะคาดหวังใหสมาชิกทำตามระเบียบได้)

  • ยึดระเบียบและแนวทางของกลุ่มให้มั่นคง

  • ทำอย่างไรให้สมาชิกยอมรับระเบียบและแนวทางของกลุ่ม

จากการพูดคุยกันในรอบนี้ทำให้เกิดความรู้ชุดหนึ่งที่สรุปขึ้นเองในท้องถิ่นว่า

"คนในชุมชนเดิมมีเงินไปฝากธนาคาร คนไม่มีเงินก็ไปกู้ธนาคาร ทำกำไรให้กับเจ้าของธนาคารและบริวาร แต่เมื่อชุมชนเราได้รวมตัวมารออมเอง กู้เอง กำไรก็ตกเป็นของชุมชนดังกล่าวมาแล้ว คือ เกิดมีเงินเก็บ เจ็บมีเงินแน่ แก่มีสวัสดิการ ลูกหลานมีอนาคต ปลดปล่ยตนเอง เราไม่เกรงกลัว เพราะเรามีพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำ"

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2552

บุคคลสาธารณะวัดป่ายาง: สมาชิกของหมู่บ้านอาริยะ

หลายท่านอาจจะสังเกตเห็นคำว่า "ชุมชนอาริยะ" บนส่วนหัวของบล็อกนี้นะครับ วันนี้ผมจะมาขยายความต่อว่าคืออะไร และมีผลที่เป็นรูปธรรมหรือยัง แล้ววันต่อไปจะนำ Road Map อย่างละเอียดมาฝากท่านผู้อ่านครับ

ชุมชนอาริยะ คือ "ชุมชนหรือหมู่บ้านที่ทุกคนทำงานเพื่อส่วนรวม" ไม่คิดแม้แต่ค่าแรงครับ ถ้ากล่าวอย่างสั้น ๆ ไม่มีใครต้องการจะสะสมทรัพย์สินไว้เป็นของส่วนตน รวมทั้งครอบครัวของตน เพราะหมู่บ้านหรือชุมชนที่เราอาศัยอยู่ เราทำเพื่อคืนให้แก่ส่วนรวม ถ้าหากจะมองให้ลึก "เราทำเพื่อคืนให้แก่ธรรมชาติ เพราะเราได้ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ชีวิตไปจนถึงวัตถุสิ่งของมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ดังนั้นการทำเพื่อฝากความมั่งคั่งไว้กับธรรมชาติ ก็คือการทำเพื่อตัวเองครับ"

ชุมชนวัดป่ายางมีเป้าหมายคือ "หมู่บ้านอาริยะ" ปัจจุบันมีผู้คนธรรมดา ๆ สองคนมาอยู่ในกลุ่มคนที่สมมติเรียกกันว่า "บุคคลสาธารณะ" ซึ่งเป็นคนที่มีชีวิตจริง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงอุดมการณ์เพ้อฝัน เป็นคนเป็น ๆ ที่มาทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่เอาแม้แต่ค่าแรง ไม่คิดจะสะสม มีกินมีอยู่อย่างไร ก็กินอยู่อย่างนั้น ไม่เรียกร้องอะไรจากชุมชน ตื่นเช้าขึ้นมามีแต่คำถามที่ถามตนเองว่า "กำลังทำอะไรอยู่" (ฝึกสติ) และ "จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้บ้าง"

บุคคลสาธารณะสองคนในชุมชนวัดป่ายางตอนนี้มีอยู่ 2 คนครับ ดังรูปที่ลงให้ดูด้านล่างสุดขวามือ หากท่านใดที่ประสงค์จะเข้ามาอยู่ในวัดป่ายางในฐานะ "บุคคลสาธารณะ" ก็ยินดีต้อนรับนะครับ ลองถามใจตนเองว่าสามารถปฏิบัติตนได้หรือไม่ ท่านเองจะเป็นคนบอกตัวเองได้ว่า "จะเป็นสมาชิกของหมู่บ้านอาริยะที่เรียกว่าบุคคลสาธารณะได้หรือไม่"

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

แนวทางการจัดการกลุ่มสัจจะฯ วัดป่าบาง

ตามที่สัญญาไว้กับผู้อ่านเมื่อบันทึกที่แล้วครับว่า "ผมจะนำแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตวัดป่ายาง" (ชื่อยาวที่สุดในโลก...ผมเชื่อว่าอย่างนั้นครับ) มาฝาก ขออภัยที่ล่าช้าไปบ้าง เพราะต้องรอให้กรรมการอภิปรายกันให้รอบคอบก่อน ผมได้ไฟล์มาทั้งแท่งเลยครับ ต่อไปนี้ผมจะคัดลอก แล้วมาวางไว้ต่อจากภาพการประชุมของกรรมการเลยครับ...โปรดติดตาม

กฏระเบียบข้อบังคับ
กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต
วัดป่ายาง ปี 2552

แนวทาง ระเบียบข้อบังคับของ“กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต” กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการไปตามทิศทางเดียวกันทั้งนี้ ระเบียบ ข้อบังคับฉบับนี้รวบรวมจากแนวทางการปฏิบัติ ข้อสรุป และประสบการณ์ดำเนินงานกลุ่มเป็นเวลา 10 ปี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หมวดสัจจะ

ข้อ 1. กำหนดให้สมาชิกทุกคนเป็นผู้มาส่งเงินสัจจะฯ เงินกู้ เงินณาปนกิจ และค่าบำรุงด้วยตัวเอง พร้อมกับให้สมาชิกเขียนยอดเงินในสมุดมาเอง แต่ห้ามเช็นต์ชื่อในช่องเหรัญญิก กรณีสมาชิกมีความจำเป็นฝากบุคคลอื่นมาส่งเงินแทน ยอดเงินขาด-เหลือผู้รับฝากต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด
ข้อ 2. กำหนดให้ สมาชิกส่งเงินสัจจะฯ เงินกู้ หรือเงินอื่นๆ แต่ต้องเตรียมเงินมาให้พอดีกับการส่ง เพราะจะไม่มีการแลกเงินและทอนเงิน ถ้าเงินเหลือถือว่าสมาชิกร่วมสมทบกองทุนสวัสดิการ ทำเช่นนี้ เพื่อฝึกให้สมาชิกได้เรียนรู้ข้อมูลการเงินและการวางแผนการเงินของครอบครัวตัวเองให้ถูกต้อง
ข้อ 3. สมาชิกส่งเงิน”สัจจะ”จำนวนเท่าใดในแต่ละเดือนจะต้องส่งเงินตามจำนวนนั้นๆ ถ้าไม่ครบตามจำนวนจะต้องเร่งส่งเงินสมทบให้ครบตามที่ระบุไว้มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับเงินปันผล เช่นส่งสัจจะไว้ 100 บาทต่อเดือน เมื่อสิ้นปี ต้องมียอดเงินในทะเบียน 1,200 บาท ถ้ามียอดเงิน 1,100 บาท ทางกลุ่มถือว่าขาดหุ้นจะไม่จ่ายปันผลให้สมาชิกรายนั้น
ข้อ 4. สมาชิกต้องมาส่งเงินภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน พ้นจากวันที่ 25 ของทุกเดือน ทางกลุ่มจะไม่รับเพราะไม่ใช่วันทำการ กรณีส่งเงินเกินเวลาที่ทางกลุ่มกำหนด จะถูกปรับเงินเล่มละ 10 บาท ถ้ามาส่งวันที่ 25 เดือนต่อไปให้ทางกลุ่มฯปรับเล่มละ 20 บาท
ข้อ 5. กรณีที่สมาชิกไม่ส่งเงินสัจจะฯ เงินกู้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน และไม่แจ้งเหตุผลให้ทางกลุ่มรับทราบทางกลุ่มถือว่าลาออก ทางกลุ่มจะไม่จ่ายเงินสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้หากสมาชิกรายนั้นมีหนี้สินอยู่กับกลุ่มสมาชิกจะต้องจ่ายคืนหนี้สินให้หมดก่อน
ข้อ 6. สมาชิกสามารถชื้อสมุดบัญชีด้วยวิธีการจ่ายเงินสด สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้าน เงินกู้ เงินสวัสดิการ เมื่อเป็นสมาชิกครบ 6 เดือนแล้ว ทั้งนี้คณะกรรมการกลุ่มสามารถพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแก่สมาชิกที่ครบ 6 เดือนแล้วได้เป็นรายๆไป
ข้อ 7. สมาชิกส่งเงินสัจจะ เงินกู้ หรือเงินอื่นๆ ห้ามเอาสมุดและเงินมากองไว้ที่โต๊ะทำงานของคณะกรรมการ และหากกรรมการท่านใดสั่งให้ตั้งกองไว้จะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทุกกรณี
ข้อ 8.ในวันประชุมปันผล แต่ละครอบครัวต้องเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยครอบครัวละ 1คน สมาชิกต้องลงทะเบียนชื่อทุกครั้ง และอยู่ร่วมประชุมจนกว่าจะปิดการประชุม ถ้าครอบครัวใดไม่เข้าร่วมประชุม ทางกลุ่มฯจะตัดสวัสดิการ 1 ปี กรณีมีเหตุจำเป็นต้องแจ้งกรรมการพิจารณาเป็นรายๆไป
ข้อ 9. การประชุมวิสามัญแต่ละครั้งกลุ่มจะจ่ายเบี้ยประชุม คนละ 30 บาทยกเว้นการประชุมสามัญวันปันผลจะไม่จ่ายเบี้ยประชุม ถ้าครอบครัวใดไม่เข้าร่วมประชุม ทางกลุ่มฯจะตัดสวัสดิการ 1 ปี กรณีมีเหตุจำเป็นต้องแจ้งกรรมการพิจารณาเป็นรายๆไป
ข้อ 10. ห้ามขายสมุดสัจจะหรือเปลี่ยนชื่อกันเองโดยมิได้แจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการรับทราบ มิเช่นนั้นถือว่าเป็นโมฆะทางกลุ่มไม่รับผิดชอบ
ข้อ 11. ห้ามไม่ให้ผู้กู้เงิน ผู้ค้ำประกัน และผู้รับรอง คนใดคนหนึ่ง ถอนหุ้น หรือ ลาออก ไม่ได้ถ้ายังมีหนี้เงินกู้ค้างอยู่ ถ้าหากไม่มีหนี้สินเสนอถอนหุ้นเล่มหนึ่งเล่มใดได้แต่ทางกลุ่มจะลดเพดานในการกู้และสวัสดิการของครอบครัวนั้นๆ
ข้อ 12. สมาชิกครอบครัวที่ส่งสัจจะ ส่งเงินกู้ประวัติไม่ดีคือไม่ตามระเบียบ ข้อบังคับกลุ่ม จะไม่ปรับรุ่นให้ๆอยู่รุ่นเดิม หรือถ้าอยู่รุ่นที่ 1 จะตกมาอยู่รุ่นที่ 2, 3, 4 ได้



หมวดเงินกู้

ข้อ 1 ห้ามเอาสมุดบัญชีของ คนชราและเด็กมากู้เงิน หรือค้ำประกัน ถ้าคนชราจะมากู้ก็ให้กู้เฉพาะหุ้นในสมุดบัญชีของตัวเองเท่านั้น ถ้ายืมสมุดบัญชีคนชรามากู้ เจ้าของสมุดบัญชีต้องมาทำสัญญาเอง และมาส่งเงินต้น ค่าบำรุงด้วยตนเองเพราะทางกลุ่มถือว่าเจ้าของสมุดบัญชีเล่มนั้นเป็นผู้กู้ ถ้าคนชราต้องการกู้เงินให้ลูก ลูกคนนั้นต้องมารับรองและส่งเงินด้วยตัวเอง มิฉะนั้นทางกลุ่มจะไม่อนุมัติปล่อยเงินกู้ จะได้ยอดเงินกู้เท่าใดอยู่ที่ประวัติของคนกู้นั้นๆ
ข้อ 2 ผู้กู้มาขอรับใบเสนอกู้เงินได้ทุกเดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 จนถึงวันที่ 19 ของเดือนถัดไปให้ คนกู้ คนค้ำ คนรับรอง มาทำสัญญา หลังจากนั้นทางกรรมการจะไม่รับพิจารณา เงินกู้
ข้อ 3 การกู้การค้ำประกันต้องกระทำร่วมกันทั้ง 3 คน และตกลงกันให้ดีทางกลุ่มถือว่าท่านทั้ง 3 คน เป็นคนกู้ ข้อผิดพลาดใดๆที่เกิดขึ้นต้องรับผิดชอบร่วมกัน และต้องทำหลักฐานไว้กับกลุ่มเพื่อป้องกันปัญหา ผู้กู้ต้องมีคนรับรอง เช่น สามีเป็นผู้กู้เงิน ภรรยาต้องเป็นผู้รับรอง ถ้าเป็นหม้าย อยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการในฐานะผู้ให้กู้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น
ข้อ 4 ผู้ที่กู้เงินไปแล้ว หากทำผิดสัญญา คณะกรรมการจะเรียกมาตักเตือน หากเกิดครั้งที่2 การขอกู้ครั้งต่อไปจะถูกลดเพดานเงินกู้ หรือให้กู้แต่หุ้นตัวเองแต่ได้ไม่เต็มยอดเงินสะสมทั้งหมด
ข้อ.5 ผู้กู้เงิน ผู้ค้ำประกันเงินกู้ และผู้รับรอง ต้องมาเซ็นต์สัญญาต่อหน้า ถ้ามีธุระอนุญาติให้เซ็นต์ล่วงหน้าได้ แต่ถ้าเลยเวลาทางกลุ่มจะไม่อนุมัติเงินกู้
ข้อ.6 การเขียนใบเสนอเงินกู้ ต้องเขียนวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเอาเงินไปทำอะไร ถ้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เมื่อมากู้เงินครั้งต่อไปจะได้ไม่เต็มเพดานเพราะถือว่าผิดสัจจะ
ข้อ 7 สมาชิกกลุ่มสัจจะฯ ทั้งหมดต้องร่วมกันรักษากลุ่มไม่ให้ล้ม เราจะไม่ยอมให้คนไร้สัจจะทำลายกลุ่ม หากเกิดกรณีไม่มีผู้มาส่งเงินกู้แม้แต่รายเดียวในรอบเดือนนั้น ต้องปฏิบัติดังนี้คือ
ข้อ 7.1 ให้ผู้ที่กู้เงินในเดือนนั้น ไปตามคนกู้ หรือ คนค้ำ
ข้อ 7.2 ให้คนค้ำ คนรับรอง ส่งเงินสัจจะ เงินกู้พร้อมค่าบำรุงในฐานะผู้ค้ำ และผู้รับรอง
ข้อ 7.3 ในกรณี คนกู้ คนค้ำ คนรับรองไม่อยู่ คนที่กู้เงินในเดือนนั้นต้องจ่ายแทนผู้กู้เงินที่ไม่มาส่ง(ปิดบัญชี)โดยใช้วิธีตกลงกัน ระหว่างคน ที่กู้เงิน กับคณะกรรมการ ถ้าปิดบัญชีไม่ได้ทางคณะกรรมการจะนำเงินไปฝากธนาคาร เพราะปล่อยเงินกู้ไม่ได้ไม่มีคนรับผิดชอบต่อกลุ่มขืนปล่อยไปก็เท่ากับทำลายกลุ่ม (ยกเว้นคนกู้เงินหุ้นของตัวเอง)
ข้อ 7.4 ถ้าคณะกรรมการปล่อยกู้กรรมการต้องรับผิดชอบ เมื่อผู้กู้เดือนนั้นปิดบัญชี ต้องเขียนชื่อไว้ด้วย ถ้าคนกู้และคนค้ำมาส่ง ให้ไปส่งกับคนที่ปิดบัญชีให้ ถือว่าผู้นั้นรับผิดชอบต่อกลุ่มสัจจะ ทางกลุ่มต้องบันทึก ประกาศชมเชย
ข้อ 8 การกู้เงินหุ้นครอบครัวต้องไม่ค้ำคนอื่นอยู่ และให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่กู้ได้ไม่เต็มเงินหุ้นตัวเอง
ข้อ 9 ผู้กู้เงินเดือนนั้นต้องมารับเงินกู้ด้วยตนเอง ผู้กู้เงินต้องทำณาปนกิจเครือข่าย ถ้าไม่ทำทางกลุ่มจะไม่ปล่อยเงินกู้ เพราะเป็นมติเครือข่าย
ข้อ 10. เมื่อผู้กู้มาส่งสัจจะเงินกู้ผิดเวลา แต่ไม่ยอมเสียค่าปรับทางกลุ่มต้องตัดเงินปันผลของสมาชิกคนนั้นเข้ากองทุนสวัดิการเมื่อสิ้นปีปันผล
สำหรับสมาชิกที่กู้เงินไปแล้วผิดสัญญาเงินกู้ เลยจำนวนงวดที่กำหนด เสนอเงินกู้ครั้งต่อไปจะได้ไม่เต็มเพดาลเงินกู้ และต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของมติที่ประชุมคณะกรรมการเป็นรายๆไป
ข้อ 11. คนแก่ชราที่ได้รับสวัสดิการจากกลุ่มเมื่อจะค้ำประกันให้คนกู้รายใดๆ ต้องมีลูกมารับรองและต้องอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ
ข้อ 12. กรณีปิดบัญชีกู้ใหม่ ยอดเงินที่ปิดบัญชี (ผลักกู้ใหม่) แต่ละครั้ง ต้องอยู่ในวงเงิน 20 % ของยอดเงินกู้ในแต่ละครั้งที่ปิดบัญชี ถ้าปิดบัญชีผลักกู้ในกรณีพิเศษ เช่น ซื้อที่ดิน ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการอนุมัติเป็นรายๆไป
ข้อ 13. ปล่อยกู้ 2 เล่มเหมือนเดิมหรือ 1 เล่มต่อครัว แต่ครัวที่มีปัญหาให้พิจารณาจากประวัติการส่งสัจจะ เงินกู้ และหุ้นเป็นรายๆไป
ข้อ 14. กำหนดเพดานเงินกู้ ปี 2552 ดังนี้
รุ่นที่ 1 ไม่เกิน 90,000 บาท ระยะเวลา 90 เดือน
รุ่นที่ 2 ไม่เกิน 70,000 บาท ระยะเวลา 70 เดือน
รุ่นที่ 3 ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 65 เดือน
รุ่นที่ 4 ไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลา 50 เดือน
**** ยอดเงินกู้จะเพิ่ม กว่าเพดาน และยอดเงินกู้ลด กว่าเพดานที่กำหนด ขึ้นอยู่กับประวัติและยอดเงินสะสมของสมาชิกแต่ละครัว ทั้งนี้ต้องอยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายกรณีไป
หมวดสวัสดิการ
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มสัจจะฯ คือ สมาชิกอยู่ดี-กินดีมีสุข
ข้อ 1. คลอดบุตร ทางกลุ่มเปิดบัญชีให้เด็กแรกเกิด 500 บาทพร้อมกับประกันสังคม 100 บาท นอกนั้นเงินสัจจะรายเดือนส่งตามความสมัครใจ จะเป็นสมาชิกรุ่นที่ 4 ส่วนการคุ้มครองอื่นๆ เหมือนกับสมาชิกทั่วไป ถ้าจะถอนเงินสัจจะ เด็กต้องอายุ 15 ปี ขึ้นไป หากต้องการถอนก่อนกำหนด ทางกลุ่มจะให้เฉพาะเงินหุ้นตัวเอง
ข้อ 2. คนแก่ชรา นับจากอายุ 65 ปี เมื่อเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะ ครบ 4 ปีขึ้นไปทางกลุ่มจะจ่ายเงินสวัสดิการให้เดือนละ 50 บาท ต่อเดือน ปีถัดไปขึ้นให้ปีละ 10 บาท ต่อเดือน คุณสมบัติของคนแก่ชราที่มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการ คือ ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อลูกหลาน เป็นคนไม่มีอบายมุข และมาวัดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ยกเว้นคนชราภาพมาไม่ได้จริงๆทางกลุ่มต้องดูแลเป็นพิเศษขึ้นตามความเติบโตของกลุ่ม
การจ่ายเงินสวัสดิการคนแก่ชราในปี 2552
รุ่นที่1 จ่ายเงิน 100 บาท
รุ่นที่2 จ่ายเงิน 60 บาท
รุ่นที่3 จ่ายเงิน 50 บาท
ส่วนคนแก่ชราที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ต้องการจะรับเงินสวัสดิการคนแก่ชราจากทางกลุ่มให้ท่านถ่ายสำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน มายื่นเสนอต่อคณะกรรมการตั้งแต่วันที่
11 -19 มกราคม 2552 เท่านั้น แต่จะได้รับเงินเดือนละ 50 บาทจะเป็นสมาชิกคนชรารุ่นที่ 3
ข้อ 3. คนเจ็บ เนื่องจากอุบัติเหตุทุกกรณีไม่นอนโรงพยาบาล เช่น ล้มแขนหัก งูกัด ทางกลุ่มจะจ่ายตามรุ่นต่อ 1 ปีดังนี้
รุ่นที่ 1 ไม่เกิน 4,000 บาท
รุ่นที่ 2 ไม่เกิน 3,000 บาท
รุ่นที่ 3 ไม่เกิน 2,000 บาท
รุ่นที่ 4 ไม่เกิน 1,000 บาท
แต่ต้องมาเสนอสาเหตุต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในวันที่ 26 แล้วจะจ่ายเงินสวัสดิการในเดือนถัดไป
ข้อ 4. คนป่วย จากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรืออื่นๆ ที่ต้องนอนโรงพยาบาล ใบรับรองแพทย์ต้องไม่มีรอยแก้ไขหรือเพิ่มเติมใดๆ ทั้งนี้ในส่วนของใบรับรองแพทย์ที่ถ่ายเอกสารมาเบิกสวัสดิการ ต้องมีใบรับรองแพทย์ตัวจริงแนบมาด้วย เพื่อรับรองสำเนาถูกต้อง มิเช่นนั้นทางกลุ่มจะไม่จ่ายเงินสวัสดิการ
ทางกลุ่มจะจ่ายเงินสวัสดิการให้กับสมาชิก ต่อคืนไม่เกิน 15 คืน/ต่อปี ตามเกณฑ์ดังนี้
รุ่นที่ 1 คืนละ 500 บาท
รุ่นที่ 2 คืนละ 300 บาท
รุ่นที่ 3 คืนละ 250 บาท
รุ่นที่ 4 คืนละ 150 บาท
แต่ถ้าสมาชิกคนใด เจ็บป่วยจากการทำงานเพื่อกลุ่ม ทางกลุ่มจะพิจารณาจ่ายเงินสวัสดิการเป็นพิเศษ แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของกลุ่มและความเติบโตของกองทุนสวัสดิการ
ข้อ 5. ค่าน้ำ-ค่าไฟ กลุ่มจ่ายสวัสดิการค่าน้ำ-ค่าไฟตามกองทุนแรกเข้าเป็นกองทุนไปจะจ่ายกองทุนละ 50 บาท/เดือน เงื่อนไขคือ แต่ละกองทุนต้องมารับเงินด้วยตนเอง มีประวัติการส่งเงินทุกหมวดดีหมด ผู้รับฝากเงินเพื่อนก็ไม่จ่ายเงิน มาประชุมทุกครั้งที่กลุ่มเรียกประชุม
ข้อ 6.พักฟื้น ถ้านอนโรงพยาบาลแล้วไม่หาย กลับมานอนที่บ้านทางกลุ่มจะจ่ายเงินเดือนละ 300 บาทต่อคนต่อเดือน จนหายป่วยหรือตาย หากหายจากการเจ็บป่วยแล้วสามารถช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้ ทางกลุ่มจะหยุดจ่ายเงินสวัสดิการ 300 บาทนี้ทันที แต่ต้องปฎิบัติตัวดีด้วย
ข้อ 7. เสียชีวิต ทางกลุ่มจะจ่ายเงินให้ 7,000 บาท น้ำดื่มตราบ้านเรา 50 โหล และเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม 1 เตียง ในคืนที่กลุ่มไปเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมต้องไม่มีอบายมุขอย่างเปิดเผย ส่วนสมาชิกตายมาทำศพที่วัดป่ายางกลุ่มให้เงิน 20,000 บาทให้น้ำดื่มตราบ้านเราพองาน เป็นเจ้าสภาพสวด 1 เตียงแต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขของวัด เหล้าไม่มี เล่นการพนันไม่มี ถ้าผิดเงื่อนไขกลุ่มจะไม่จ่าย
ทั้งนี้ ข้อ 1.- ข้อ 7.มีเงื่อนไขที่คณะกรรมการต้องพิจารณาจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงิน หรือปรับลดค่าสวัสดิการคือ สาเหตุการเจ็บ กินเหล้า เล่นการพนัน ยาม้า ผิดศีลธรรม อยู่ที่เหตุผลของคณะกรรมการแต่ต้องอยู่ในแนวทางของกลุ่ม และทางครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมกับกลุ่ม มาประชุมทุกครั้งที่กลุ่มนัดหมาย
ข้อ 8. สมาชิกฌาปนกิจเครือข่ายปี 2552 ทางกลุ่มจะเก็บเงินเป็นทุนสำรองคนละ 250 บาท ต่อปี โดยเก็บเงินจากวันปันผล หรือวันถัดไปแต่ไม่เกินวันที่ 25 มกราคม 52
ตัวอย่าง ในหนึ่งปี มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 25 คน ทางกลุ่มจะนำเงินที่เหลือเข้ากองทุนสวัสดิการ แต่ถ้าหากว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 25 คน ทางกลุ่มจะจ่ายเงินฌาปณกิจเครือข่ายให้กับสมาชิกทั้งหมด
สำหรับผู้เป็นสมาชิกฌาปนกิจเครือข่ายรายใหม่ ท่านจะต้องจ่ายเงินทุนสำรอง จำนวน 250 บาท เท่ากับสมาชิกรายเก่า ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกเครือข่ายเดือนใดก็ตาม


หมวดหน้าที่และสิทธิของกรรมการ

ข้อ 1. คณะกรรมการทั้งชุดจะต้องทำงานเป็นทีม และต้องดูแลรับผิดชอบ ให้กลุ่มเดินไปสู่ อุดมการณ์ และเป้าหมายการพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีวาระการประชุมตามการงานของกลุ่มและข้อตกลง
ข้อ 2.ฝ่ายบัญชี รับผิดชอบบัญชี - รายรับ รายจ่ายและงบบัญชีต่างๆทั้งหมดของกลุ่ม
ข้อ 3.ฝ่ายเลขานุการ รับผิดชอบการบันทึกวาระการประชุมทุกครั้ง รวบรวมหลักฐาน ข้อมูล ทะเบียนประวัติต่างๆของกลุ่มให้เป็นปัจจุบัน
ข้อ 4. คณะกรรมการฝ่ายสัจจะ ทำหน้าที่ รับเงินสัจจะจากสมาชิก ดูแลทะเบียน ให้สะอาด เรียบร้อยและดูตัวเลขให้เป็นปัจจุบัน
ข้อ 5. คณะกรรมการฝ่ายเงินกู้ ทำหน้าที่ รับเงินกู้ ดูแลทะเบียนให้สะอาดเรียบร้อยตัวเลขให้เป็นปัจจุบัน ดูแลสมาชิกให้อยู่ในกฏกติกา พร้อมทั้งบันทึกประวัติของสมาชิกด้วยความถูกต้อง
ข้อ 6. คณะกรรมการฝ่ายสวัสดิการดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิก เมื่อสมาชิก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องรับ- จ่าย ตามข้อตกลงปีต่อปี จัดทำทะเบียนประวัติของสมาชิก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
ข้อ 7. กรรมการต้องมาทำงานอย่างน้อย 4 วัน นอกเหนือจากนั้นแล้วแต่ทางกลุ่มเรียกประชุมเป็นพิเศษ

7.1 วันที่ 20 เวลา 13.00-15.00 น. พิจารณาเงินกู้
7.2 วันที่ 24 เวลา 13.00-15.00 น. เขียนสัญญาเงินกู้
7.3 วันที่ 25 เวลา 12.00-14.00 น. ทำการกลุ่ม
เวลา 14.30 - 15.00 น. ปล่อยเงินกู้
7.4 วันที่ 26 เวลา 09.00-15.00 น. ประชุมคณะกรรมการ / สรุปบัญชีรายเดือน
ข้อ 8. หน้าที่ความรับผิดชอบงาน
8.1 กรรมการรับสัจจะฯ
8.2 กรรมการรับเงินกู้
8.3 กรรมการจ่ายสวัสดิการ
8.4 กรรมการฌาปนกิจ
8.5 กรรมการธุรกิจกลุ่ม
ข้อ 9. ค่าตอบแทนคณะกรรมการจะได้รับค่าตอบแทนเมื่อสิ้นปีปันผล
ค่าตอบแทนปี พ.ศ. 2552 คนละ 500 บาท /เดือน จำนวน 17 คน เป็นเงิน 102,000 บาท
ข้อ 10. คณะกรรมการกลุ่มสัจจะฯวัดป่ายาง หมดวาระและหมดสถานภาพจากเป็นกรรมการ คือ
10.1 ลาออก เช่น ไม่รักกลุ่ม ไม่รักชุมชน ไม่มีอุดมการณ์
10.2 งานขับไม่ออก เช่น ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่พัฒนาตนเอง
10.3 ฉ้อโกงกลุ่ม เช่น โกงเงินกลุ่ม โกงเงินสมาชิก
10.4 เสียชีวิต



ดูแล้วก็นำไปปรับใช้ได้ตามสะดวกนะครับ สอบถามกรรมการแล้วว่า "ไม่สงวนสิทธิ์ครับ"

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการทุนชุมชน(4): 10 ปี กลุ่มสัจจะฯ วัดป่ายาง

เมื่อวานนี้ (9 มกราคม 52) ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังการพูดคุยของคณะกรรมการกลุ่มสัจจะวัดป่ายาง (ผมเรียกว่าการพูดคุย แต่ชาวบ้านก็พยายามอยากให้เป็นการประชุม ทั้ง ๆ ที่การมาพูดคุยกัน น่าฟังกว่าการประชุม และได้ประโยชน์กว่าการประชุมหลายต่อนัก ในสายตาของ "คนนอกคอก" อย่างผม) ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาการพูดคุย "พ่อท่าน" (ท่านวรรณ) ได้ให้ผมถอดเรื่องราวที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการแลกเปลี่ยนของคณะพระอาจารย์มนัส แห่งวัดโพธิ์ทอง จากเครือข่ายกลุ่มสัจจะจันทบุรี ผมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมฟังการแลกเปลี่ยนดังกล่าว ดังที่ผมได้เล่าไว้แล้วในบันทึกที่ผ่านมา

เมื่อผมเล่าจบ น้าดำก็เข้าเนื้อหา โดยการรายงานตัวเลขต่าง ๆ ให้กรรมการทราบ เพื่อกรรมการจะได้แจ้งให้สมาชิกทราบในวันปันผลในวันที่ 11 มกราคม ทีจะถึงนี้ น้าดำกล่าวว่า "เมื่อมกรา 42 เรามีสมาชิกในวันก่อตั้ง 411 คน เงินออมสัจจะครั้งแรก 14,420 บาท กองทุนสวัสดิการ 18,280 บาท ณ. วันนี้ เรามีสมาชิก 1,097 คน เงินออมสัจจะ 5,692,880 บาท กองทุนสวัสดิการ 3,116,580 บาท

ในปีนี้ กรรมการปรึกษาหารือกันว่า จะวางหลักเกณฑ์อย่างไรเรื่องการให้เงินสวัสดิการค่าน้ำค่าไฟครัวเรือนละ 600 บาทต่อปี หลักเกณฑ์ที่กรรมการถกเถียงกันอย่างออกรสก็ได้แก่ จะทำอย่างไรให้สมาชิกมาส่งสัจจะด้วยตัวเอง เพื่อจะได้มีส่วนร่วม กรรมการอภิปรายกันในประเด็นที่ว่า "ถ้าสมาชิกคนใดไม่มาส่งสัจจะด้วยตัวเอง จะถูกตัดสวัสดิการตัวนี้" อีกประเด็นคือ "คนที่รับฝากก็จะถูกตัดสวัสดิการตัวนี้ด้วยเช่นกัน" สองประเด็นนี้กรรมการถกเถียงกันอย่างเต็มที่ และตรงไปตรงมาตามแบบฉบับของคนปักษ์ใต้ และแบบฉบับของคนนครฯ ในสายตาของคนต่างถิ่นอย่างผม ทีแรกที่เห็นการพูดคุยแบบนี้ ผมรู้สึกหนักในอกอย่างไรไม่รู้ แต่ในระยะหลังนี้ ผมกลับมองว่า "เป็นความงาม" อย่างหนึ่ง มีเสน่ห์ในตัวอย่างที่ไม่อาจพบเห็นได้ในภาคอื่น ตอนแรก ๆ ผมก็อยากจะเปลี่ยน แต่บัดนี้ ผมยอมรับวิถีชาวบ้านแบบนี้ ด้วยความอิ่มเอิบใจครับ

อีกประเด็นที่กรรมการยกขึ้นมาหารือคือ "กลุ่มสัจจะเราจะทำธุรกิจข้าวสาร" ในหลักการเบื้องต้น กรรมการเห็นพ้องต้องกัน แต่ในรายละเอียด ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสหน้าครับ พร้อมทั้งจะเปิดเผยโครงสร้างการทำงานของกลุ่มสัจจะฯ วัดป่ายางอย่างไม่ปิดบัง

วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการทุนชุมชน (3): แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายกลุ่มสัจจะจันทบุรี

เมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมานี้ กลุ่มสัจจะวัดป่ายาง กลุ่มสัจจะตำบลควนกรด และกลุ่มสัจจะตำบลกะหรอ นครศรีธรรมราช โชคดีที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะพระอาจารย์มนัส แห่งวัดโพธิ์ทอง จังหวัดจันทบุรี คณะของพระอาจารย์มนัสเดินทางมาปักษ์ใต้ครั้งนี้ ไม่ได้มาที่นครศรีธรรมราชแห่งเดียว ทราบว่าท่านเลยไปสงขลามาแล้ว ขากลับเห็นว่าจะแวะที่สุราษฎร์ด้วย การเดินทางของคณะจันทบุรีครั้งนี้ ผมสันิษฐานว่า น่าจะเป็นการทำงานร่วมกันกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมของมหาวิทยาลัยรังสิต เพราะมีอาจารย์ของวิทยาลัยนี้เดินทางร่วมมาด้วยสองท่าน หนึ่งในนั้นที่ผมรู้จัก (แต่ท่านไม่รู้จักผมหรอก) คือเจ้าของวาทะอันโด่งดังเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ใจความตอนหนึ่งว่า "สุดท้ายได้กระดาษแผ่นเดียว"

คณะพระอาจารย์มนัสเดินทางมาถึงวัดป่ายางประมาณ สองทุ่มของคืนวันที่ 6 ทางวัดได้จัดเตรียมกุฏิ (รีสอร์ท) ในป่ายางถวายคณะพระอาจารย์ทั้ง 5 รูป ส่วน "โยม" ที่เดินทางมากับคณะสงฆ์ เข้าไปพักในเมืองที่อยู่ไม่ไกลนัก อาจจะเนื่องมาจากว่า ที่พักของวัดเป็นแบบง่าย ๆ จึงไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนเมือง ท่านจึงแสวงหาที่สัปปายะสำหรับท่านเอง ก็ไม่ว่ากัน

เราเริ่มกระบวนการพูดคุยประมาณ 09.00 ของเช้าวันที่ 7 บริเวณศาลาที่ด้านขวาเป็น "สระบัว" ด้านซ้ายเป็น "ต้นไทร" ร่มรื่น โดยบรรยากาศเวทีเป็นแบบ "unpluged" ทั้งนี้มี "คุณภีม" จากวลัยลักษณ์นำคณะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย

ท่านสุวรรณ ในฐานะเจ้าบ้าน ก็ได้เล่าให้วงเสวนาฟังว่า "ป่ายางเริ่มทำกลุ่มสัจจะมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป้าหมายในการทำกลุ่มสัจจะของเราคือ เพื่อสวัสดิการของชุมชน" ท่านสุวรรณ เน้นย้ำถึงเป้าหมายให้ทุกคนฟังเป็นอันดับแรก แล้วกล่าวต่อไปว่า "ในตอนนั้นอาตมาขอบริจาคเงินจากชาวบ้านคนละ 100 บาท แบบเอาศรัทธาเป็นตัวตั้ง คือไม่ให้ชาวบ้านถาม ตอนนั้นอาตมาคิดว่า ได้สัก 2-3,000 บาทก็ประสบผลสำเร็จแล้ว แต่ก็คิดคาด เพราะตอนเริ่มต้น เรามีกองทุนสวัสดิการ 18,000 บาท ก็ถือว่าเกินคาด มาปัจจุบัน เราทำมาแล้ว 10 ปี ตอนมีกองทุนสวัสดิการ กว่าหนึ่งล้านบาท "ท่านกล่าวอย่างภาคภูมิก่อนจะบอกถึงขอบเขตการให้สวัสดิการแก่สมาชิกว่า "สวัสดิการตอนนี้ นอกจากจะให้ค่านอนโรงพยาบาลคืนละ 500 เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีสวัสดิการครอลคลุมหมด สวัสดิการเราต้องดีกว่าข้าราชการ ปีหน้าเราจะเริ่มมีสวัสดิการ ค่าน้ำค่าไฟ ครอบครัวละ 600 บาท" ก่อนที่จะจบท่านกล่าวว่า "ก็นั่นแหละโยม มันไม่ราบรื่นเหมือนการเดินไปบนทางที่โดยด้วยกลีบกุหลาบหรอก แต่เรามองปัญหาเป็นยากำลัง ไม่ได้มองปัญหาเป็นอุปสรรคของการทำงาน จึงทำให้เราเดินทางมาถึงวันนี้ได้"

ก่อนที่คนอื่นจะกล่าวอะไร พระอาจารย์มนัสก็กล่าวด้วยสำเนียงที่มีเสน่ห์แบบคนจันทบุรีว่า "เอายังงี้ไม๊ เดี๋ยวเรามาแนะนำตัวกันก่อนว่าใครเป็นใคร" เมื่อแต่ละคนกล่าวแนะนำตัวเอง ก็ทำให้วงเสวนาเรารู้ว่าใครเป็นใครมาจากไหนบ้าง ดังที่ผมกล่าวไปแล้วในตอนต้น แล้วช่วงที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง นั่นคือ ช่วงที่พระอาจารย์มนัสนำประสบการณ์ของจันทบุรีมาแลกเปลี่ยน ประเด็นที่หลายคนเฝ้ารอคือ "จันทรบุรีทำอย่างไรจึงมีกองทุนสวัสดิการโตถึงกว่า 200 ล้านบาทได้ภายในเวลาสิบปีเศษ

พระอาจารย์มนัสเล่าว่า "จังหวัดจันทรบุรีโชคดีที่ คณะสงฆ์จังหวัดร่วมมือกันทุกรูป พระทุกรูปเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะ ปันผลบางปี สมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าไม่เอา ให้ยกเข้ากองทุนสวัสดิการหมด โดยพระบอกว่าเป็นการทำบุญ โจทย์ที่เราหาคำตอบและคิดว่าเห็นหนทางแล้วก็คือ ทำอย่างไรจะทำให้ค่าบำรุงลดลง และกองทุนสวัสดิการก็ต้องโตขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้มีกองทุนสวัสดิการไม่น้อยกว่ 5,000 บาทต่อหัว เมื่อนั้นเราจะสามารถลดค่าบำรุงได้ เราตั้งโจทย์ไว้ แล้วให้สมาชิกไปคิดกันเอง นั่นแหละ สมาชิกก็แนะแนวทางอย่างที่เราทำอยู่" ท่านมนัสเสริมตอนท้ายว่า "ที่จันทรบุรี ส่วนใหญ่คนที่มาเข้ากลุ่มสัจจะ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่เงินปันผล เราต้องการสวัสดิการ กลุ่มวัดโพธิ์ทอง วัดที่อาตมาจำพรรษาอยู่ และเป็นบ้านเกิดอาตมาด้วย ใครลาออกเราให้ข้าวสารหนึ่งกระสอบ แต่ก็ไม่มีใครออก เพราะคนใหม่ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกต้อง "เซ้งสิทธิ์ 18,000 บาท" กลุ่มเราจึงไม่มีปัญหาคนลาออก และไม่มีปัญหาหนี้เสียเลยสักบาทเดียว เรื่องนี้เราใช้วิธี ถ้าไม่คืนเงินกู้เดือนที่แล้ว ก็ไม่ปล่อยให้กู้ในเดือนนี้ และก็ไม่ใช้ระบบเฉลี่ยจ่ายแทนด้วย"

หลังจากท่านกล่าวจบ ผู้ที่สนใจจากกล่มต่าง ๆ ก็แลกเปลี่ยนกันต่ออีกในช่วงบ่าย โดยเป็นการพูดคุยกันแบบสบาย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 15.00 ก็แยกย้ายกันเดินทางต่อ ในบันทึกต่อไปเรื่องการจัดการทุนชุมชน ผมจะนำวิธีการจัดการทุนชุมชนของจันทบุรีกับการจัดการทุนชุมชนของเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตมาเล่าสู่กันฟัง ถึงความเหมือนและแตกต่างให้ท่านผู้อ่านไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

ท่านชื่น อาธโร: วิทยาจารย์หัวก้าวหน้า

ไหน ๆ ก็กล่าวถึงท่านวรรณแล้ว วันนี้ขออนุญาตกล่าวถึง "พ่อหลวง" ที่เป็นกำลังสำคัญอีกท่านหนึ่งของวัดป่ายางเลยก็แล้วกัน บันทึกหน้าผมสัญญากับตัวเองว่า จะนำเรื่อง "การจัดการกองทุนสวัสดิการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิควัดป่ายาง" มาร่ายยาวให้ท่านผู้ที่สนใจได้อ่านอย่างเต็มที่
"เกิดเป็นคน คนให้ทั่ว ปากไม่เลิ่น ก้นไม่รั่ว ชั่วไม่เอา เมาไม่มี นี่คือคน เกิดเป็นคน คนไม่ทั่ว ปากก็เลิ่น ก้นก็รั่ว ชั่วก็เอา เมาก็มี นี่ไม่ใช่คน" นี่เป็น "คาถา" ที่ท่าืนชื่นมักจะนำมากล่าวเสมอเมื่อมีการปฐมนิเทศน์ผู้เข้าอบรมหลักสูตร "การพัฒนาเกษตรกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง"
ปี 52 นี้ ท่านชื่นอายุย่างเข้า 59 ปี แล้ว แต่ในสายตาผมตอนที่มาถึงวัดป่ายางใหม่ ๆ ผมเดาว่า ท่านชื่นน่าจะไม่เกิน 50 ปี นี่เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า "วิทยาจารย์หัวก้าวหน้า" ไม่ได้เป็นชื่อที่ได้มาเพราะผมต้องการตั้งเพื่อเอาใจท่าน หรือเป็นการยกยอคนในอารามเดียวกัน ท่านชื่นเป็นพระภิกษุที่หากจะนำคำในสมัยก่อนมาใช้ก็คงพอจะเทียบเคียงกับคำว่า "พหุสูตร" ได้อย่างลงตัวทีเดียว หรือในวงการวิชาการก็มักจะนิยมคำว่า "สหวิทยาการ" คำต่าง ๆ ที่ผมพยายามนำมาอธิบายคุณลักษณะท่านชื่นนั้น เพื่อที่จะอธิบายว่า ท่านชื่นมีความรู้รอบด้าน และเป็นความรู้ในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ความรู้ที่จำคนอื่นมาแล้วไปคุยข่มคนอื่น อย่างที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยไทยความรู้ที่เด่นชัดที่สุดน่าจะได้แก่ ความรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ท่านชื่นเป็นนักประดิษฐ์โดยสัญชาติญาณ ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะท่านบอกว่า "ฉานเรียน ป. 4 ปีสอง" หมายความว่าเรียนซ้ำชั้น ป. 4 "ฉานอ่านภาษาไทยไม่ค่อยถูกนะ" ท่านพูดกับผมเสมอ ๆ แต่ท่านไม่เคยละความพยายามในการอ่านเลย คำไหนที่่ท่านไม่เข้าใจความหมายและออกเสียงไม่ได้ ท่านไม่อายที่จะไปถามผู้ที่เขารู้ว่า นี่แหละลักษณะของนักปราชญ์หละ

องค์รวมรู้เพื่อการพึ่งตนเอง มีตั้งแต่การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ทั่ว ๆ ไป ไปจนถึงการประดิษฐ์ "เตาหมักแก๊สชีวภาพ" ที่เป็นขวัญใจของผู้มาเรียนรู้ดูงานว่าจะต้องกลับไปทำใช้เองที่บ้านให้ได้ อีกอันได้แก่ "การทำน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารในครัวเรือนแล้ว" ก็เป็นขวัญใจของแฟน ๆ ที่มาศึกษาดูงานในวัดป่ายางอีกเช่นกัน
ความอุตสาหะอีกประการหนึ่งได้แก่ "ท่านเป็นนักศึกษาพระไตรปิฎกตัวยง" ไม่ใช่เพียงอ่านเท่านั้น ท่านยังมีเมตตานำความรู้ที่ได้จากพระไตรปิฎกมาแบ่งปันแก่ญาติโยมและผู้มาเรียนรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่านสามารถเป็นวิทยากรหน้าเวทีตั้งแต่ ตีสิบหัวเช้าถึงตีสิบหวันเย็นได้อย่างสบาย ๆ

ที่กล่าวมาข้างต้นก็นับว่าสุดยอดแล้วนะครับ แต่สิ่งที่สุดยอดมากว่าคือเรื่องสุขภาพ ท่านชื่นดูแลสุขภาพเองด้วยวิถีธรรมชาติครับ ท่านบวชมาแล้วสามปี ไม่เคยฉันยาฝรั่ง ไม่เคยไปโรงพยาบาล เพราะท่านไม่เคยเจ็บป่วยแล้ว ยาสมุนไพรที่ผมเคยลองรับประทานดูแล้วขนานแรกคือ "น้ำส้มควันไม้กลั่นหมักกับน้ำผึ้งดำ" เห็นไหมครับ แค่ชื่อก็มหัศจรรย์แล้ว

จะเห็นได้ว่า ท่านชื่นมีวิชารอบด้านสมดังชื่อที่ผมตั้งว่า "วิทยาจารย์หัวก้าวหน้า" หรือว่าท่านผู้อ่านเห็นว่าอย่างไรครับ

วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

ท่านสุวรรณ คเวสโก: ผู้พลิกฟื้นชุมชนป่ายาง

ผมกล่าวถึง "ท่านวรรณ" มาในบรรทึกที่แล้ว หลายท่านอาจอยากจะทราบว่าท่านวรรณเป็นใคร วันนี้ผมจะเล่าเรื่องราวของท่านสู่ท่านทั้งหลายให้ได้รับทราบครับ

"อาตมาเกลียดพระ" เป็นคำกล่าวแรก ๆ ที่ท่านแนะนำตัวเอง ผมได้ฟังทีแรก ก็ยอมรับว่าสะดุ้งนิด ๆ แต่เมื่ออยู่ที่วัดนานเข้า ผมก็เริ่มเข้าใจที่มาที่ไปของคำกล่าวแสดงความรู้สึกที่ท่านพูดออกมาตรง ๆ
"แต่ก่อนอาตมาเป็นคอมฯ" ท่านสนทนากับผมในเย็นวันหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับที่คนใกล้ชิดท่านบอกกับผมว่า "พ่อท่านเป็นคอมเก่า" ผมฟังเสียงจากคนใกล้ชิดท่านบอกเล่า แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ผมตอบผู้บอกเล่าไปในเชิงกระเซ้าว่า "ก็ดี เพราะผมก็เป็นคอมใหม่" "หลังจากหันหลังให้พรรคฯ แล้ว อาตมาไปศึกษาธรรมะอยู่กับ

อาจารย์พุทธทาสอยู่เจ็ดปี" ท่านสุวรรณเล่าต่อในอีกหลายวันต่อมา "อาจารย์พุทธทาสเป็นแรงบันดาลใจในการบวชของอาตมา" ท่านเล่าให้ฟังต่

อว่า อาจารย์พุทธทาสแสดงความคิดเห็นเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกว่า "คอมเ ก๊" และอาจารย์พุทธทาสบอกท่านสุวรรณเรื่องคอมที่แท้จริงว่า "คอมแท้คือพระพุทธเจ้า" ผมจึงเชื่อว่า จุดนี้แหละน่าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายท่านสุวรรณในการบวชครั้งนี้

ความคาดเดาของผมในเบื้องต้นบังเอิญไปตรงกับใจท่านพอดี วันหนึ่งท่านปรารภกับผมต่อ

ว่า "ที่อาตมามาบวชนั้น เป็นการบวชอย่างมีเป้าหมาย ไม่ได้มาบวชเพื่อสร้างฐานะ ไม่ได้มาบวชเพื่อแสวงหาลาภยศ แต่เป็นการมาบวชเพื่อสร้างสังคมใหม่" ในตอนแรกผมยังไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่เวลาผ่านไปสองสามเดือน สิ่งที่ท่านกล่าวถึงว่า "สังคมใหม่" เริ่มชัดแจ้ง สังคมใหม่ในความหมายที่ท่านพยายามสื่อ ได้ปรากฏออกมาในการสื่อสารหอกระจายข่าวตอนเช้าว่า "เราต้องการให้สังคมอยู่ดี กินดี อยู่ดีคืออยู่โดยปราศจากอบายมุข กินดี คือกินอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี" ทำให้ผมนึกถึงคำ ๆ หนึ่งว่า "อาริยะ" ผมนำคำนี้ไปปรึกษาท่าน ท่านไม่พูดอะไรได้แต่ยิ้ม ในวันต่อ ๆ มา ท่านก็เริ่มนำคำนี้มาพูดในตอ

นเช้าว่า "ต่อไปป่ายางเราต้องเป็นหมู่บ้านอาริยะ" ผมจึงได้เข้าใจว่าที่ท่านยิ้มในวันนั้นหมายถึงอะไร

"อาตมาบวชเมื่อปี 2538 พรรษาแรกก็ทำงานเลย เมื่อมีโอกาสได้พบกับท่านสุบิน ปณีโต เมื่อครั้งเดินทางมาจังหวัดสุราษฎร์" ท่านกล่าวกับผมในเช้าวันหนึ่ง "จากวันนั้นก็ทำงานหนักมาตลอด จากวันแรกที่กองทุน

สวัสดิการก่อตั้งขึ้นในปี 2542 มีเพียง 18,000 บาท ที่ขอให้ชาวบ้านบริจาคคนละ 100 แบบไม่ต้องถาม ถ้าถามก็ไม่ต้องให้ มาวันนี้ เราทำงานมาสิบปี กองทุนสวัสดิการเราโตขึ้นกว่าสามล้านบาท" ท่านพูดอยู่เสมอ ๆ 

ด้วยความภาคภูมิใจ "แต่อาตมาเหนื่อย ชาวบ้านส่วน

ใหญ่ยังไม่เข้าใจ ทั้ง ๆ ที่เราพูดมาตลอดสิบปี" ท่านทิ้งท้ายด้วยเสียงเหนื่อย แต่ผมสังเกตแววตาท่าน ผมก็รู้อยู่เต็มใจว่าท่านไม่ถอยง่าย ๆ หรอก

การจัดการทุนชุมชน (2)

วันก่อน ผมได้เล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เหตุใดผมจึงเดินทางมาถึงวัดป่ายางได้ และผมก็ได้จั่วหัวเรื่องการจัดการทุนชุมชนไว้แล้ว มาวันนี้จะขยายความในเรื่อง "การจัดการทุนชุมชนวัดป่ายาง" เพิ่มเติมครับ

ทุนแรกที่ท่านสุวรรณ พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ชุมชนจัดการกันเองได้แก่ทุนที่ชาวบ้านเห็นง่ายที่สุดคือ "ทุนเงิน" ในเรื่องนี้ท่านย้ำอยู่เสมอเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและเห็นความสำคัญของความจำเป็นที่จะต้องจัดการทุนเงินว่า

"พี่มีเงิน เอาไปฝากธนาคาร น้องไม่มีเงิน ไปกู้ธนาคาร ธนาคารก็รวยเอง ๆ ในขณะที่ชุมชนมีแต่จนลง ๆ สาเหตุเพราะอะไร เพราะเดี๋ยวนี้ พี่กับน้องไม่ไว้วางใจกันแล้ว เราสูญเสียทุนดั้งเดิมของเราไปแล้ว นั่นคือ "ความไว้วางใจกัน ความนับถือซึ่งกันและกัน" เมื่อทุนดั้งเดิมหมดไป เราก็เลยไม่สามารถพึ่งพากันเองในเรื่องการจัดการทุนเงินได้ เราจึงต้องใช้การจัดการทุนเงิน เพื่อดึงทุนดั้งเดิมของชุมชนกลับคืนมา"

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ท่านสุวรรณมักจะยกตัวอย่างบ่อย ๆ คือเรื่องการจัดงานศพ

"ใครเคยไปงานศพบ้าง" ท่านมักจะถามก่อนที่จะเล่าต่อ "เดี๋ยวนี้งานศพเขาเก็บเงินที่มาช่วยงานไว้ที่ไหน เขาเก็บใส่กล่องใช่ไหม หากมองตื้น ๆ ก็อาจจะเห็นว่าดี แต่หากมองลึก ๆ จะเห็นว่า เดี๋ยวนี้พี่กับน้องก็ไม่ไว้ใจกันแล้ว หากเป็นสมัยก่อน พี่คนโตจะเก็บเงินไว้เอง หากมีรายจ่ายอะไรก็ค่อยมาเบิก แต่เดี๋ยวนี้ ต้องใส่กล่องเพราะพี่น้องต่างก็กลัวว่าคนจะโกง ซึ่งในความเป็นจริง เงินช่วยงานก็ใส่กระเป๋าตัวเองทั้งเพ ถ้าคนอื่นไม่รู้ไม่เห็น เราสูญเสียทุนดั้งเดิมของเราหมดแล้ว การจัดการทุนเงินด้วยชุมชนเอง จึงเป็นเครื่องมือที่จะฟื้นสิ่งเหล่านี้กลับคืนมา"

ท่านสุวรรณ มักจะกล่าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ชุมชนอื่นที่มาเยี่ยม "กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตวัดป่ายาง" เห็นความสำคัญของการหันมาจัดการทุนเงินของชุมชนเอง

คราวหน้าผมจะหยิบเรื่องอื่น ๆ ที่ท่านสุวรรณยกมาพูดให้ชุมชนฟัง เพื่อให้ชุมชนเห็นความจำเป็นในการจัดการทุนเงินชุมชนในทุกแง่มุม หลังจากนั้นผมจึงจะนำเข้าเนื้อหาเรื่องการจัดการทุนเงินชุมชนของบ้านป่ายางในรายละเอียดครับ

วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการทุนชุมชน : ก้าวแรกเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน (1)

ผมก้าวเข้ามาวัดป่ายางครั้งแรก เมื่อครั้งผมมาเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยย่านนี้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้นผมมานอนเล่นในสนามหญ้าของวัด เพื่อรอการสอบของนักศึกษาคนต่อไป หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน ผมก็มีอันต้องมาพำนักอยู่ในวัดนี้เป็นการถาวร ผมยอมรับว่า ตอนแรกผมไม่รู้จักวัดป่ายางมากนัก ได้ยินเพียงเลา ๆ เมื่อครั้งไปพบกับ "ท่านสุวรณ" ในเวทีประชาพิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นสิ่งที่ซึมเข้าไปในใจผมไม่ใช่รายละเอียดของการจัดการทุนชุมชน ผมได้รับทราบแต่เพียงว่า ท่านเป็นพระที่ไม่เหมือนพระที่ผมเคยรู้จัก ท่านเป็นพระที่แปลกในสายตาผมขณะนั้น หลังจากนั้นผมก็มีโอกาสได้เจอท่านอีก ในเวทีหลักสูตรแก้หนี้แก้จนเริ่มต้นชีวิตใหม่

จนกระทั่งเมือวันที่ 2 ตุลาคม 51 เป็นวันที่ผมเป็นสมาชิกใหม่อย่างเต็มตัวของวัดป่ายาง ผมก็เริ่มได้เรียนรู้วิธีการจัดการทุนชุมชนจากเทศนาธรรมของท่านที่มอบแก่ชุมชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้ว่าในระยะหลังนี้สุขภาพร่างกายท่านจะไม่ค่อยดีนัก แต่ท่านก็ยังคงพร่ำบอก พร่ำสอนวิธีการจัดการทุนชุมชนอยู่ตลอด จนตัวผมเองเพิ่งเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ไม่นาน ก็เริ่มเห็น และเข้าใจวิธีการจัดการทุนชุมชนของท่านสุวรรณ ได้แจ่มชัดขึ้น ผมยอมรับว่าวิธีการจัดการทุนของท่านวรรณแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิธีการจัดการทุนของนักทฤษฎีทั้งหลาย

บันทึกหน้าเราจะมาดูกันในรายละเอียดครับ