วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการทุนชุมชน (3): แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายกลุ่มสัจจะจันทบุรี

เมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมานี้ กลุ่มสัจจะวัดป่ายาง กลุ่มสัจจะตำบลควนกรด และกลุ่มสัจจะตำบลกะหรอ นครศรีธรรมราช โชคดีที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะพระอาจารย์มนัส แห่งวัดโพธิ์ทอง จังหวัดจันทบุรี คณะของพระอาจารย์มนัสเดินทางมาปักษ์ใต้ครั้งนี้ ไม่ได้มาที่นครศรีธรรมราชแห่งเดียว ทราบว่าท่านเลยไปสงขลามาแล้ว ขากลับเห็นว่าจะแวะที่สุราษฎร์ด้วย การเดินทางของคณะจันทบุรีครั้งนี้ ผมสันิษฐานว่า น่าจะเป็นการทำงานร่วมกันกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมของมหาวิทยาลัยรังสิต เพราะมีอาจารย์ของวิทยาลัยนี้เดินทางร่วมมาด้วยสองท่าน หนึ่งในนั้นที่ผมรู้จัก (แต่ท่านไม่รู้จักผมหรอก) คือเจ้าของวาทะอันโด่งดังเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ใจความตอนหนึ่งว่า "สุดท้ายได้กระดาษแผ่นเดียว"

คณะพระอาจารย์มนัสเดินทางมาถึงวัดป่ายางประมาณ สองทุ่มของคืนวันที่ 6 ทางวัดได้จัดเตรียมกุฏิ (รีสอร์ท) ในป่ายางถวายคณะพระอาจารย์ทั้ง 5 รูป ส่วน "โยม" ที่เดินทางมากับคณะสงฆ์ เข้าไปพักในเมืองที่อยู่ไม่ไกลนัก อาจจะเนื่องมาจากว่า ที่พักของวัดเป็นแบบง่าย ๆ จึงไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนเมือง ท่านจึงแสวงหาที่สัปปายะสำหรับท่านเอง ก็ไม่ว่ากัน

เราเริ่มกระบวนการพูดคุยประมาณ 09.00 ของเช้าวันที่ 7 บริเวณศาลาที่ด้านขวาเป็น "สระบัว" ด้านซ้ายเป็น "ต้นไทร" ร่มรื่น โดยบรรยากาศเวทีเป็นแบบ "unpluged" ทั้งนี้มี "คุณภีม" จากวลัยลักษณ์นำคณะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย

ท่านสุวรรณ ในฐานะเจ้าบ้าน ก็ได้เล่าให้วงเสวนาฟังว่า "ป่ายางเริ่มทำกลุ่มสัจจะมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป้าหมายในการทำกลุ่มสัจจะของเราคือ เพื่อสวัสดิการของชุมชน" ท่านสุวรรณ เน้นย้ำถึงเป้าหมายให้ทุกคนฟังเป็นอันดับแรก แล้วกล่าวต่อไปว่า "ในตอนนั้นอาตมาขอบริจาคเงินจากชาวบ้านคนละ 100 บาท แบบเอาศรัทธาเป็นตัวตั้ง คือไม่ให้ชาวบ้านถาม ตอนนั้นอาตมาคิดว่า ได้สัก 2-3,000 บาทก็ประสบผลสำเร็จแล้ว แต่ก็คิดคาด เพราะตอนเริ่มต้น เรามีกองทุนสวัสดิการ 18,000 บาท ก็ถือว่าเกินคาด มาปัจจุบัน เราทำมาแล้ว 10 ปี ตอนมีกองทุนสวัสดิการ กว่าหนึ่งล้านบาท "ท่านกล่าวอย่างภาคภูมิก่อนจะบอกถึงขอบเขตการให้สวัสดิการแก่สมาชิกว่า "สวัสดิการตอนนี้ นอกจากจะให้ค่านอนโรงพยาบาลคืนละ 500 เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีสวัสดิการครอลคลุมหมด สวัสดิการเราต้องดีกว่าข้าราชการ ปีหน้าเราจะเริ่มมีสวัสดิการ ค่าน้ำค่าไฟ ครอบครัวละ 600 บาท" ก่อนที่จะจบท่านกล่าวว่า "ก็นั่นแหละโยม มันไม่ราบรื่นเหมือนการเดินไปบนทางที่โดยด้วยกลีบกุหลาบหรอก แต่เรามองปัญหาเป็นยากำลัง ไม่ได้มองปัญหาเป็นอุปสรรคของการทำงาน จึงทำให้เราเดินทางมาถึงวันนี้ได้"

ก่อนที่คนอื่นจะกล่าวอะไร พระอาจารย์มนัสก็กล่าวด้วยสำเนียงที่มีเสน่ห์แบบคนจันทบุรีว่า "เอายังงี้ไม๊ เดี๋ยวเรามาแนะนำตัวกันก่อนว่าใครเป็นใคร" เมื่อแต่ละคนกล่าวแนะนำตัวเอง ก็ทำให้วงเสวนาเรารู้ว่าใครเป็นใครมาจากไหนบ้าง ดังที่ผมกล่าวไปแล้วในตอนต้น แล้วช่วงที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง นั่นคือ ช่วงที่พระอาจารย์มนัสนำประสบการณ์ของจันทบุรีมาแลกเปลี่ยน ประเด็นที่หลายคนเฝ้ารอคือ "จันทรบุรีทำอย่างไรจึงมีกองทุนสวัสดิการโตถึงกว่า 200 ล้านบาทได้ภายในเวลาสิบปีเศษ

พระอาจารย์มนัสเล่าว่า "จังหวัดจันทรบุรีโชคดีที่ คณะสงฆ์จังหวัดร่วมมือกันทุกรูป พระทุกรูปเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะ ปันผลบางปี สมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าไม่เอา ให้ยกเข้ากองทุนสวัสดิการหมด โดยพระบอกว่าเป็นการทำบุญ โจทย์ที่เราหาคำตอบและคิดว่าเห็นหนทางแล้วก็คือ ทำอย่างไรจะทำให้ค่าบำรุงลดลง และกองทุนสวัสดิการก็ต้องโตขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้มีกองทุนสวัสดิการไม่น้อยกว่ 5,000 บาทต่อหัว เมื่อนั้นเราจะสามารถลดค่าบำรุงได้ เราตั้งโจทย์ไว้ แล้วให้สมาชิกไปคิดกันเอง นั่นแหละ สมาชิกก็แนะแนวทางอย่างที่เราทำอยู่" ท่านมนัสเสริมตอนท้ายว่า "ที่จันทรบุรี ส่วนใหญ่คนที่มาเข้ากลุ่มสัจจะ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่เงินปันผล เราต้องการสวัสดิการ กลุ่มวัดโพธิ์ทอง วัดที่อาตมาจำพรรษาอยู่ และเป็นบ้านเกิดอาตมาด้วย ใครลาออกเราให้ข้าวสารหนึ่งกระสอบ แต่ก็ไม่มีใครออก เพราะคนใหม่ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกต้อง "เซ้งสิทธิ์ 18,000 บาท" กลุ่มเราจึงไม่มีปัญหาคนลาออก และไม่มีปัญหาหนี้เสียเลยสักบาทเดียว เรื่องนี้เราใช้วิธี ถ้าไม่คืนเงินกู้เดือนที่แล้ว ก็ไม่ปล่อยให้กู้ในเดือนนี้ และก็ไม่ใช้ระบบเฉลี่ยจ่ายแทนด้วย"

หลังจากท่านกล่าวจบ ผู้ที่สนใจจากกล่มต่าง ๆ ก็แลกเปลี่ยนกันต่ออีกในช่วงบ่าย โดยเป็นการพูดคุยกันแบบสบาย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 15.00 ก็แยกย้ายกันเดินทางต่อ ในบันทึกต่อไปเรื่องการจัดการทุนชุมชน ผมจะนำวิธีการจัดการทุนชุมชนของจันทบุรีกับการจัดการทุนชุมชนของเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตมาเล่าสู่กันฟัง ถึงความเหมือนและแตกต่างให้ท่านผู้อ่านไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น