วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการทุนชุมชน (2)

วันก่อน ผมได้เล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เหตุใดผมจึงเดินทางมาถึงวัดป่ายางได้ และผมก็ได้จั่วหัวเรื่องการจัดการทุนชุมชนไว้แล้ว มาวันนี้จะขยายความในเรื่อง "การจัดการทุนชุมชนวัดป่ายาง" เพิ่มเติมครับ

ทุนแรกที่ท่านสุวรรณ พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ชุมชนจัดการกันเองได้แก่ทุนที่ชาวบ้านเห็นง่ายที่สุดคือ "ทุนเงิน" ในเรื่องนี้ท่านย้ำอยู่เสมอเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและเห็นความสำคัญของความจำเป็นที่จะต้องจัดการทุนเงินว่า

"พี่มีเงิน เอาไปฝากธนาคาร น้องไม่มีเงิน ไปกู้ธนาคาร ธนาคารก็รวยเอง ๆ ในขณะที่ชุมชนมีแต่จนลง ๆ สาเหตุเพราะอะไร เพราะเดี๋ยวนี้ พี่กับน้องไม่ไว้วางใจกันแล้ว เราสูญเสียทุนดั้งเดิมของเราไปแล้ว นั่นคือ "ความไว้วางใจกัน ความนับถือซึ่งกันและกัน" เมื่อทุนดั้งเดิมหมดไป เราก็เลยไม่สามารถพึ่งพากันเองในเรื่องการจัดการทุนเงินได้ เราจึงต้องใช้การจัดการทุนเงิน เพื่อดึงทุนดั้งเดิมของชุมชนกลับคืนมา"

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ท่านสุวรรณมักจะยกตัวอย่างบ่อย ๆ คือเรื่องการจัดงานศพ

"ใครเคยไปงานศพบ้าง" ท่านมักจะถามก่อนที่จะเล่าต่อ "เดี๋ยวนี้งานศพเขาเก็บเงินที่มาช่วยงานไว้ที่ไหน เขาเก็บใส่กล่องใช่ไหม หากมองตื้น ๆ ก็อาจจะเห็นว่าดี แต่หากมองลึก ๆ จะเห็นว่า เดี๋ยวนี้พี่กับน้องก็ไม่ไว้ใจกันแล้ว หากเป็นสมัยก่อน พี่คนโตจะเก็บเงินไว้เอง หากมีรายจ่ายอะไรก็ค่อยมาเบิก แต่เดี๋ยวนี้ ต้องใส่กล่องเพราะพี่น้องต่างก็กลัวว่าคนจะโกง ซึ่งในความเป็นจริง เงินช่วยงานก็ใส่กระเป๋าตัวเองทั้งเพ ถ้าคนอื่นไม่รู้ไม่เห็น เราสูญเสียทุนดั้งเดิมของเราหมดแล้ว การจัดการทุนเงินด้วยชุมชนเอง จึงเป็นเครื่องมือที่จะฟื้นสิ่งเหล่านี้กลับคืนมา"

ท่านสุวรรณ มักจะกล่าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ชุมชนอื่นที่มาเยี่ยม "กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตวัดป่ายาง" เห็นความสำคัญของการหันมาจัดการทุนเงินของชุมชนเอง

คราวหน้าผมจะหยิบเรื่องอื่น ๆ ที่ท่านสุวรรณยกมาพูดให้ชุมชนฟัง เพื่อให้ชุมชนเห็นความจำเป็นในการจัดการทุนเงินชุมชนในทุกแง่มุม หลังจากนั้นผมจึงจะนำเข้าเนื้อหาเรื่องการจัดการทุนเงินชุมชนของบ้านป่ายางในรายละเอียดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น